ค่าธรรมเนียมรัฐในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย

ค่าธรรมเนียมรัฐในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย

รัฐบาลไทยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ใบอนุญาตที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติในการดำเนินธุรกิจที่มีการควบคุมในประเทศไทย) ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและวิธีการดำเนินธุรกิจของชาวต่างชาติ ค่าธรรมเนียมรัฐขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่ชาวต่างชาติจะทำ (ไม่ว่าจะเป็นประเภทของธุรกิจในบัญชี 2 หรือบัญชี 3) และขึ้นอยู่กับเงินทุนที่จะนำเข้ามาประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมรัฐที่แท้จริงที่ต่างชาติที่ประสงค์จะจัดตั้งสำนักงานในไทยต้องจ่ายยังเป็นที่สับสน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากวิธีการใช้ถ้อยคำในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และส่วนหนึ่งเนื่องมาจากวิธีการกำหนด “เงินทุน” ของธุรกิจต่างประเทศตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

กฎกระทรวงที่กำหนดค่าธรรมเนียมรัฐเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวแบ่งค่าธรรมเนียมออกเป็น ค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกิจในบัญชี 2 และธุรกิจในบัญชี 3 และระหว่างค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในทุกกรณี ค่าธรรมเนียมสำหรับนิติบุคคลจะขึ้นอยู่กับ “ทุนจดทะเบียน” ของนิติบุคคลนั้น อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไม่ได้ให้คำจำกัดความของ “ทุนจดทะเบียน” ไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากใช้กับบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาเนื่องจากบริษัทต่างประเทศอาจหมายถึง นิติบุคคลต่างประเทศที่จดทะเบียนนอกประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยซึ่งมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของเป็นหลัก นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้คำจำกัดความ “ทุนขั้นต่ำ” คือจำนวนเงินทุนในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่คนต่างด้าวนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเริ่มดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ในกรณีของบริษัทต่างชาติที่ต้องการจดทะเบียนสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย จึงมีความไม่แน่นอนว่าควรคำนวณค่าธรรมเนียมรัฐตามทุนจดทะเบียนของสำนักงานใหญ่หรือจำนวนทุนที่จะโอนมายังประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจการผ่านสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย

ในเดือนเมษายน 2558 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้ออกความเห็นเชิงแนะนำโดยชี้แจงประเด็นดังต่อไปนี้:

  • “ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยและได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเป็นสำนักงานตัวแทนซึ่งเป็นธุรกิจตามบัญชี 3 (21) ให้คำนวณค่าธรรมเนียมรัฐจากทุนจดทะเบียนบริษัท (ทุนจดทะเบียนในต่างประเทศ)”

ความเห็นเชิงแนะนำของกรมธุรกิจการค้าชี้แจงว่า ในกรณีที่บริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนนิติบุคคลไทย ในกรณีดังกล่าว จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับรัฐ โดยให้คำนวณจากทุนจดทะเบียนของสำนักงานใหญ่ (บริษัทจดทะเบียนต่างประเทศ) ไม่ใช่จำนวนเงินทุนที่บริษัทต่างประเทศนำเข้ามาในประเทศไทย

กฎหมายธุรกิจไทยมีความซับซ้อน นักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยควรขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษากฎหมายที่มีความรู้ความสามารถก่อนดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย

Category: กฎหมายธุรกิจ

About the Author (Author Profile)

สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล

Search the blog