การขายตรงภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
การขายตรงหรือการตลาดทางตรงโดยทั่วไปหมายถึงการขายหรือการทำการตลาดสินค้าและบริการโดยตัวแทนขายอิสระให้กับผู้บริโภคโดยตรงที่บ้านหรือที่ทำงาน ในประเทศไทย พระราชบัญญัติการขายตรงและการตลาด พ.ศ. 2545 ได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้
- “ขายตรง” หมายความว่า การทำตลาดให้สินค้าหรือบริการที่ทำโดยตรงต่อผู้บริโภคที่บ้านหรือที่ทำงานของผู้บริโภค หรือที่บ้านหรือที่ทำงานของบุคคลอื่น หรือสถานที่อื่นใดที่ไม่ใช่สถานประกอบการปกติโดยผ่านตัวแทนขายตรง หรือผู้จำหน่ายอิสระระดับยูนิเลเวล (Uni-Level) หรือมัลติเลเวล (Multi-Level) แต่ไม่รวมถึงธุรกรรมอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
- “การตลาดทางตรง” หมายความว่า การทำการตลาดให้กับสินค้าหรือบริการในลักษณะเป็นการสื่อสารข้อมูลการขายสินค้าหรือบริการโดยตรงไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและคาดหวังให้ผู้บริโภคตอบรับและซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจการตลาดทางตรง
ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจคือ การขายตรงและการตลาดทางตรงเป็นกิจกรรมทางธุรกิจควบคุมในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้ให้ความเห็นเชิงคำแนะนำในสองประเด็น ดังต่อไปนี้:
- ชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดทางตรงตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่?
- ชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจด้วยทุนขั้นต่ำ 100 ล้านบาท ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงและการตลาดทางตรงตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่?
ตามข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การขายตรงถือเป็น “การขายปลีก” ภายใต้มาตรา (14) ในบัญชีที่ 3 ของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เช่นเดียวกับธุรกิจ “บริการ” ภายใต้มาตรา (21) ในบัญชี 3 ของพระราชบัญญัติ ซึ่งกิจกรรมทางธุรกิจทั้งสองประเภทนี้เป็นกิจกรรมที่ควบคุมหากต่างด้าวประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจประเภทนี้ ในส่วนของการตลาดทางตรงถือเป็นธุรกิจบริการตามมาตรา (21) ในบัญชี 3 ดังนั้นธุรกิจทั้งสองประเภทคนต่างด้าวจะต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ในการยื่นขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจเหล่านี้นั้น คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะเป็นผู้พิจารณาตามเงื่อนไขของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติดำเนินธุรกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จากข้อความในตัวบท ตามมาตรา (14) ข้อจำกัดเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกจะใช้กับธุรกิจที่มีทุนขั้นต่ำน้อยกว่า 100 ล้านบาทเท่านั้น ในกรณีดังกล่าว คนต่างด้าวซึ่งต้องใช้ทุนขั้นต่ำจริงในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป สามารถขายตรงได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
ข้อจำกัดทางธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศไทยมีความซับซ้อน นักลงทุนต่างชาติควรขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษากฎหมายที่มีความรู้ความสามารถก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
Category: กฎหมายธุรกิจ

About the Author (Author Profile)
สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล