อาวุธปืนถูกกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่?
เหตุการณ์กราดยิงเมื่อเร็วๆ นี้ในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ตอกย้ำถึงปัญหาด้านความรุนแรงจากการใช้ปืนในประเทศไทยอีกครั้ง แม้ว่าประชากรไทยหลายคนเป็นเจ้าของอาวุธปืน แต่ประเทศไทยถือว่ามีกฎระเบียบที่ค่อนข้างรัดกุมเกี่ยวกับการครอบครองและพกพาอาวุธปืน อย่างไรก็ตาม ความหละหลวมในการบังคับใช้กฎเหล่านี้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราความรุนแรงจากการใช้ปืนที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
เพื่อตอบสนองต่อเหตุกราดยิงดังกล่าว รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มมาตรการควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่การกราดยิงครั้งแรกในประเทศไทย เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลักดันให้เกิดความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนที่อาจล้าสมัย ปัญหาด้านอาวุธปืนในไทยมีรากฐานมาจากหลายสาเหตุ รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย และโซเชียลมีเดียเองก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยผู้ก่อเหตุบางรายถ่ายทอดสดการกระทำของตนเอง ที่อาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรม
การจัดการกับประเด็นเร่งด่วนเหล่านี้จำเป็นต้องมีการหารือกันอย่างจริงจัง โดยที่การเปลี่ยนแปลงกลไกทางกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำความเข้าใจกฎหมายอาวุธปืนในประเทศไทย
การอนุญาตและกฎพื้นฐาน:
ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับควบคุมอาวุธปืน บุคคลต้องได้รับอนุญาตในการครอบครอง ผลิต และใช้อาวุธปืน โดยห้ามพกพาอาวุธปืนในพื้นที่สาธารณะโดยไม่มีใบอนุญาติ ซึ่งมีข้อยกเว้นสำหรับเหตุฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่บางส่วนเท่านั้น
วัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต:
ใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนออกให้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การป้องกันตนเอง การคุ้มครองทรัพย์สิน กีฬา การล่าสัตว์ และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ปืนที่เก็บไว้ด้วยเหตุผลทางใจต้องไม่สามารถยิงได้ และห้ามมีกระสุน
การขอใบอนุญาต:
อาวุธปืนแต่ละกระบอกต้องมีใบอนุญาต โดยจะอนุญาตเฉพาะผู้ครอบครองตามที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น
ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดดังนี้:
- บุคคลที่มีประวัติการถูกจำคุกจากอาชญากรรมบางประเภท หรือพ้นโทษจากความผิดดังกล่าวภายในเวลาห้าปีที่ผ่านมาจะไม่ได้รับสิทธิ์
- บุคคลที่ถูกจำคุกเนื่องจากละเมิดพระราชบัญญัติอาวุธปืน หรือถูกจำคุกสองครั้งขึ้นไปในช่วงห้าปีที่ผ่านมาสำหรับการละเมิดกฎหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ จะไม่ได้รับสิทธิ์
- ผู้สมัครจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
- ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่สามารถใช้อาวุธปืนได้ เนื่องจากกายพิการหรือทุพพลภาพ ครอบครองอาวุธปืน เว้นแต่การครอบครองจะมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บเท่านั้น
- บุคคลที่ถือว่าไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ หรือวิกลจริต จะไม่ได้รับสิทธิ์
- บุคคลที่แสดงพฤติกรรมทำลายความสงบเรียบร้อยของสังคม จะไม่ได้รับสิทธิ์
- ผู้สมัครจะต้องมีอาชีพและรายได้ประจำ
- ต้องมีที่อยู่ถาวรในประเทศไทย โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ขออนุญาตเป็นเวลาอย่างน้อยหกเดือน
กรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ:
บุคคลที่ไม่ใช่ชาวไทยจะไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของอาวุธปืนในประเทศไทย
การละเมิดและบทลงโทษ:
การละเมิดกฎหมายอาวุธปืนในประเทศไทยมีบทลงโทษร้ายแรง ทั้งการปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 20,000 บาท และจำคุกสูงสุด 10 ปี ในกรณีที่รุนแรงอาจมีโทษถึงประหารชีวิต
ปัญหาด้านกฎหมายอาวุธปืนและเหตุจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง
ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในเรื่องกฎหมายอาวุธปืนมาเป็นเวลานาน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหลายประการ จากข้อมูลของ Gunpolicy.org พลเรือนไทยเป็นเจ้าของปืนมากกว่า 7.2 ล้านกระบอก โดยที่น่าตกใจคือ 1.2 ล้านกระบอกเป็นปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและผิดกฎหมาย
ไทยมีอัตราการครอบครองปืนที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประเทศไทยแตกต่างจากสหรัฐอเมริกาตรงที่มีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการซื้อปืน อย่างไรก็ตาม ช่องโหว่ทางกฎหมายและความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้สถานการณ์ในปัจจุบันแย่ลง มีการครอบครองอาวุธปืนอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น
ขั้นตอนการขอใบอนุญาตอาวุธปืนค่อนข้างยุ่งยาก โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่านำเข้าจำนวนมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงการขึ้นทะเบียนปืนอย่างถูกกฎหมาย ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการมีอยู่ของโครงการสวัสดิการอาวุธปืนสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ส่งผลให้อัตราการครอบครองปืนสูงขึ้น ช่องโหว่ทางกฎหมายยังเอื้อต่อการค้าอาวุธปืนทางออนไลน์ โดยไม่มีการควบคุมที่ชัดเจนอีกด้วย เป็นเรื่องน่าเศร้าที่อาวุธปืนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจในประเทศไทย
การจัดการกับปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนอย่างครอบคลุม โดยเน้นการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การตรวจสอบประวัติผู้ขอใบอนุญาตอย่างละเอียด และการกำจัดช่องโหว่ที่นำไปสู่การครอบครองที่มากเกินไป รวมถึงการจำหน่ายอาวุธปืนอย่างผิดกฎหมาย
ทิศทางกฎหมายอาวุธปืน
ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของนโยบายควบคุมอาวุธปืน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 คณะรัฐมนตรีที่ใกล้พ้นวาระได้อนุมัติร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายอาวุธปืนฉบับเดิม พร้อมด้วยการนิรโทษกรรมอาวุธปืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเวลา 180 วัน แต่น่าเสียดายที่ความพยายามนี้ต้องหยุดชะงักลงเมื่อเกิดการยุบสภา
เพื่อเป็นการรับมือต่อเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศมาตรการระยะสั้น เพื่อยกระดับการควบคุมอาวุธปืน มาตรการเหล่านี้ประกอบด้วย:
- การระงับใบอนุญาต: ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศระงับใบอนุญาตนำเข้าและซื้อขายอาวุธปืนต่างๆ ทั้งของจริงและสิ่งเทียม
- การบันทึกอาวุธปืนเทียม: บุคคลที่ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรืออาวุธปืนเลียนแบบที่สามารถดัดแปลงเป็นปืนจริงได้ จะต้องนำอาวุธไปแสดงเพื่อบันทึกที่สำนักงานทะเบียนอาวุธปืน
- การตรวจสอบของกรมศุลกากร: กรมศุลกากรจะเข้มงวดกับการตรวจสอบการนำเข้าแบลงค์กัน บีบีกัน และอาวุธปืนเทียมมากขึ้น
- ข้อจำกัดสนามยิงปืน: การกีฬาแห่งประเทศไทยจะดำเนินการห้ามบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสนามยิงปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องลงทะเบียนปืนที่นำเข้าสู่สนามอย่างถูกต้อง และห้ามนำกระสุนออกนอกสนามโดยเด็ดขาด
- ข้อจำกัดการอนุญาต: ผู้ว่าราชการจังหวัดจะยุติการออกใบอนุญาตสำหรับบุคคลให้มีอาวุธปืนติดตัว
- อาวุธปืนสำหรับเจ้าพนักงาน: แม้ว่าจะไม่มีนโยบายอาวุธปืนสำหรับประชาชนทั่วไป แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม จะได้รับอนุญาตให้ครอบครองปืนได้คนละหนึ่งกระบอก
- การระงับใบอนุญาตร้านขายปืน: เจ้าหน้าที่ทะเบียนอาวุธปืนจะงดออกใบอนุญาตสำหรับร้านขายปืนในการนำเข้าอาวุธปืนและกระสุนปืนจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม โดยไม่อนุญาตให้เปิดร้านขายปืนใหม่
- การปราบปรามการขายปืนออนไลน์: กระทรวงมหาดไทยจะร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการปราบปรามการขายอาวุธปืนออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย
มาตรการระยะสั้นเหล่านี้มีไว้เพื่อจัดการกับข้อกังวลเร่งด่วน โดยเป็นการปูทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการแก้ไขกฎหมายอาวุธปืนในปัจจุบันด้วย
Siam Legal ติดตามภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของการควบคุมอาวุธปืน และการปฏิรูปกฎหมายอาวุธปืนในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด หากท่านมีข้อสงสัยหรือข้อกังวลใดๆ เกี่ยวกับการครอบครองหรือการใช้อาวุธปืนในประเทศไทย ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของเราพร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ท่าน โปรดติดต่อเราเพื่อขอคำปรึกษาโดยทันที
Category: กฎหมายปืนแห่งประเทศไทย
About the Author (Author Profile)
สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล