วิธีการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย
ภายใต้กฎหมายไทย บริษัทแบ่งประเภทได้ดังนี้
- ห้างหุ้นส่วนไทย
- บริษัทจำกัดไทย
ห้างหุ้นส่วนไทยก็เหมือนกับห้างหุ้นส่วนทั่วไปซึ่งอาจเป็นได้ทั้งหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดในประเทศไทยเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยการแบ่งทุนออกเป็นหุ้นเท่าๆ กันและความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นต่อบริษัทจำกัดอยู่เฉพาะตามจำนวนหุ้นที่ตนเองถือครอง
บริษัทไทยจำกัด โดยเฉพาะบริษัทเอกชนไทยจำกัดเป็นรูปแบบธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย
ลักษณะเด่น ได้แก่
- มีผู้ถือหุ้นอย่างน้อยสามคน
- ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นต่อบริษัทจำกัดอยู่เฉพาะตามจำนวนหุ้นที่ตนเองถือครอง
- บทบาทของผู้ถือหุ้นในบริษัทถูกจำกัด เนื่องจากกรรมการเป็นผู้ควบคุมกิจการ
ขั้นตอนในการจดทะเบียนบริษัทไทย
ขั้นตอนที่ 1: ยื่นจองชื่อเพื่อจดทะเบียนบริษัท
ในขั้นตอนแรกจะต้องยื่นจองชื่อเพื่อจดทะเบียนบริษัท ชื่อจะต้องไม่เป็นชื่อเดียวกันหรือว่าคล้ายกับชื่อของบริษัทที่เคยจดทะเบียนแล้วในประเทศไทย ชื่อบริษัทต้องลงท้ายด้วยคำว่า “จำกัด”
ข้อแนะนำ: แนะนำให้ยื่นจองสามชื่อตามลำดับที่ต้องการเพื่อให้แน่ใจว่ามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น ชื่อบริษัทจะถูกจดทะเบียนเป็นภาษาไทยแม้จะตั้งเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ควรเลือกชื่อบริษัทที่ยาวเกินไปหรือยากเกินไปหากไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมากนัก เพราะอาจเกิดความยุ่งยากในภายหลังได้ เช่น ความผิดพลาดในการร่างเช็ค ชื่อธุรกิจอาจต้องแตกต่างจากจากชื่อบริษัทที่จดทะเบียน
การขอจองชื่อบริษัทสามารถทำได้ทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยปกติแล้วการพิจารณาอนุมัติชื่อบริษัทใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน หลังจากได้รับอนุมัติชื่อบริษัทจะมีผลใช้ได้เพียง 30 วันเท่านั้นและไม่สามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวได้
ขั้นตอนที่ 2: การยื่นหนังสือบริคณห์สนธิ
หลังจากจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว บริษัทสามารถจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิได้ ในส่วนนี้จะต้องชำระค่าหุ้นทั้งหมด การจะประกอบธุรกิจในต่างประเทศจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน
หนังสือบริคณห์สนธิประกอบด้วย
- ชื่อบริษัทที่เสนอ
- สำนักงานจดทะเบียนของบริษัทในประเทศไทย (โปรดระบุรายละเอียด เช่น ที่อยู่ เขต จังหวัด)
- วัตถุประสงค์ของบริษัท
- ความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นต่อบริษัทจำกัดอยู่เฉพาะตามจำนวนหุ้นที่ตนเองถือครอง
- จำนวนทุนจดทะเบียนที่บริษัทประสงค์จดทะเบียนและการแบ่งออกเป็นหุ้น
- ชื่อ ที่อยู่ อาชีพและลายเซ็นของผู้ริเริ่มก่อตั้งและจำนวนหุ้นที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งแต่ละรายซื้อ
ขั้นตอนที่ 3: การประชุมตั้งบริษัทตามกฎหมาย
บริษัทจำเป็นต้องยื่นข้อบังคับของบริษัทและหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งต้องจัดทำขึ้นในประชุมจัดตั้งบริษัท นอกจากนี้ ภายในการประชุมเดียวกันนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและผู้สอบบัญชีของบริษัท ธุรกิจอื่นๆ ที่จะดำเนินการในประชุมจัดตั้งบริษัทซึ่งประกอบด้วย
- การรับรองข้อบังคับของบริษัท (หากมี)
- การอนุมัติสัญญาทั้งหมดที่ทำขึ้นและค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งใช้ไปในการส่งเสริมบริษัท
- การกำหนดจำนวนเงิน (หากมี) ที่จะจ่ายให้แก่ผู้ริเริ่มก่อตั้ง
- การกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิพิเศษ (หากมี)
- การกำหนดจำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิพิเศษ ที่จะได้รับการจัดสรรเป็นหุ้นชำระเต็มหรือบางส่วน
- การแต่งตั้งกรรมการบริหารชุดแรกและผู้สอบบัญชีชุดแรก การกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย
ขั้นตอนที่ 4: จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย
เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว การจดทะเบียนบริษัทจำเป็นต้องดำเนินการภายในวันเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทได้จัดประชุมจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้วใบสมัครขอจดทะเบียนบริษัทต้องยื่นภายใน 90 วันนับจากวันที่ประชุมจัดตั้งบริษัท
ขั้นตอนการจดทะเบียนในส่วนนี้ บริษัทจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทด้วย
ขั้นตอนที่ 5: การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้
ภายหลังการจดทะเบียนบริษัท ภายใน 60 วัน นับจากวันจดทะเบียนหรือวันเริ่มดำเนินงานจำเป็นจะต้องยื่นขอและรับบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีนิติบุคคลจากกรมสรรพากร
ภาษีมูลค่าเพิ่มถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1992 เป็นภาษีทางอ้อมที่เรียกเก็บจากมูลค่าเพิ่มของแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจัดจำหน่าย องค์กรธุรกิจใดที่จัดหาสินค้าหรือให้บริการในประเทศไทยซึ่งมียอดขายต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาทจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย นอกจากนี้หากต้องการได้รับใบอนุญาตทำงานจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท
แม้กระบวนการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยอาจดูซับซ้อน แต่ไทยยังคงเป็นสถานที่ลงทุนที่ยอดเยี่ยม ผู้ประกอบการควรปรึกษากับทนายความที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายบริษัทไทย เพื่อช่วยตัดสินใจเลือกประเภทบริษัทที่เหมาะสม
คำถามที่พบบ่อย
ข้อกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับบริษัทคือเท่าไร
บริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจแบบไม่จำกัดตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท ส่วนธุรกิจจำกัดต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 3 ล้านบาท แต่ข้อกำหนดนี้ไม่บังคับกับบริษัทที่คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด (อย่างไรก็ตาม บริษัทไทยอาจต้องมีคุณสมบัติทางการเงินอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการขอใบอนุญาตทำงานให้กับพนักงานต่างชาติ)
กระบวนการลงทะเบียนใช้เวลานานแค่ไหนและสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้เมื่อไหร่
ระยะเวลาในการจดทะเบียนจะขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและข้อมูลที่ต้องการใช้ บริษัทสามารถตั้งได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอาจใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนซึ่งขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางธุรกิจ
หน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องในธุรกิจมีอะไรบ้าง
เมื่อจดทะเบียนบริษัทเสร็จเรียบร้อย ภาระหน้าที่ที่จะต้องทำคือ ยื่นรายงานภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรทุกเดือน ชำระเงินสมทบประกันสังคมสำหรับพนักงานกับสำนักงานประกันสังคมทุกเดือน จัดทำและเก็บรักษาบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้องเพื่อให้ผู้ตรวจสอบบัญชีลงนามรับรองรายงานการเงินประจำปี ยื่นรายงานการเงินประจำปีกับกรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภาระหน้าที่อื่นๆ เช่น ยื่นรายงานผลประกอบการครึ่งปี จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน ยื่นรายงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการตามเงื่อนไขของบริษัท (เช่น บริษัทส่งเสริมการลงทุน) ต่ออายุใบอนุญาตทำงานและวีซ่าอยู่ชั่วคราวของชาวต่างชาติก่อนหมดอายุ
เปิดบัญชีธนาคารสำหรับธุรกิจอย่างไร
การเปิดบัญชีธนาคารสำหรับบริษัทเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากบัญชีธนาคารจะเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน หลังจากจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้วการเปิดบัญชีธนาคารสำหรับนิติบุคคลกับธนาคารในท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากและโดยทั่วไปแล้วขั้นตอนต่างๆ ก็ค่อนข้างสะดวก เพื่อเปิดบัญชีธนาคารสำหรับนิติบุคคล ธนาคารจะขอเอกสารบันทึกมติการประชุมคณะกรรมการบริหารโดยระบุการอนุมัติเปิดบัญชี รายละเอียดของผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เอกสารจดทะเบียนบริษัทฉบับจริงและสำเนา เอกสารยืนยันตัวตนบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้มีอำนาจลงนามบัญชี นอกจากเอกสารที่เตรียมมาจะยังต้องกรอกฟอร์มต่างๆ ที่ธนาคารกำหนดด้วย ควรทราบไว้ว่าบางธนาคารอาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับกรรมการชาวต่างชาติ เช่น ต้องมีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าอยู่ชั่วคราวก่อนจึงอนุญาตให้ใช้บริการบางอย่างได้ เช่น อินเทอเน็ตแบงกิ้งบนบัญชีบริษัท
Category: กฎหมายธุรกิจ

About the Author (Author Profile)
สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล