การสมรสของเพศเดียวกันถูกกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่?
ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการความเป็นเสรีในการแสดงออก โดยเฉพาะกลุ่มชาว LGBTQ+ จากทั่วทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความขัดแย้งที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ แม้ว่าสังคมไทยจะถือว่าเปิดกว้างสำหรับชุมชนเพศทางเลือก แต่ความเป็นจริงบุคคลเหล่านี้กลับต้องพบกับอุปสรรคและการเลือกปฏิบัติมากมาย
วัฒนธรรมไทยมีความทันสมัยในระดับหนึ่ง แต่ในด้านกฎหมายยังคงมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่มาก โดยเฉพาะการยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ภาพลักษณ์ที่เป็นเสรีของประเทศจึงถูกท้าทายด้วยกฎหมาย และมุมมองของสังคมส่วนหนึ่งที่มีต่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่ยังเป็นไปในทางลบ
ถึงแม้รัฐธรรมนูญของไทยและกฎหมายต่าง ๆ จะเน้นย้ำถึงสิทธิที่ “เท่าเทียมกัน” สำหรับพลเมืองทุกคน แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายเหล่านี้ยังขาดการตอบสนองต่อความต้องการและสิทธิของชุมชน LGBTQ+ จึงได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มคนเหล่านี้ โดยหวังว่าจะได้รับสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียม
การต่อสู้ดิ้นรนอย่างต่อเนื่องของชุมชน LGBTQ+ ในไทย แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนระหว่างแนวคิดที่ก้าวหน้า กับความเชื่อดั้งเดิมที่หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมและกฎหมายของประเทศ
ความเป็นมาและกฎหมายปัจจุบันเกี่ยวกับการสมรสของเพศเดียวกัน
ในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 1458 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการสมรสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ชายและหญิง ยินยอมจะเป็นสามีภรรยากัน
สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ในประเทศไทย การรับรองทางกฎหมายไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้บุคคลกลุ่มนี้ขาดสิทธิที่สำคัญ เช่น สิทธิคู่สมรส การจัดการมรดก และสิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ
แม้ว่าประเทศไทยจะแสดงออกว่าเปิดกว้างต่อการมีอยู่ของสังคม LGBTQ+ แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่อนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกัน อีกทั้งความพยายามในการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนหน้านี้ ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในสภา
ความพยายามล่าสุดในการแก้ไขมาตรา 1458 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีกำหนดหารือเดิม ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหากมีการบังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว คู่รักเพศเดียวกันอาจได้รับสิทธิทางกฎหมายเฉกเช่นคู่รักชายหญิงทั่วไป ซึ่งรวมถึงสิทธิประโยชน์ของคู่สมรส การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม การตัดสินใจด้านการแพทย์ของคู่สมรส การจัดการทรัพย์สิน มรดก สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงินบำนาญจากรัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ทั้ง 8 พรรคเห็นชอบที่จะให้ความสำคัญกับการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้เกิดความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับชุมชน LGBTQ+ ในไทย
ความคืบหน้ากฎหมายสมรสเท่าเทียม
ดูเหมือนประเทศไทยอาจกำลังเข้าใกล้การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากกลุ่ม LGBTQ+ ในวงกว้าง นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้บุกเบิกให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อไม่นานมานี้ คณะรัฐมนตรีได้ให้ไฟเขียวแก่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่เน้นย้ำในการให้สิทธิในฐานะคู่สมรสที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ ข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มุ่งเน้นไปที่การให้นิยามการแต่งงานใหม่ โดยเลือกใช้คำที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น “บุคคล” และ “คู่ครอง” แทนการใช้ศัพท์ที่ระบุเพศโดยเฉพาะ
ขณะนี้ร่างกฎหมายกำลังรอการนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งหากผ่านกระบวนการนิติบัญญัติได้สำเร็จ และได้รับการเห็นชอบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยก็จะสามารถรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ในที่สุด
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าร่างกฎหมายนี้จะสามารถผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาได้อย่างราบรื่น เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ชุมชน LGBTQ+ และผู้สนับสนุนมองว่าการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่มาจากการต่อสู้เรียกร้องของภาคประชาชนเป็นเวลานานหลายปี
อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
แม้ว่าประเทศไทยจะกำลังเดินหน้าสู่การรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่ก็อาจยังคงมีอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการต่อต้านจากกลุ่มศาสนาบางกลุ่ม เช่นกลุ่มศาสนาคริสต์และมุสลิมในไทย
แต่ถึงกระนั้น ชุมชน LGBTQ+ ยังคงเชื่อว่าการต่อต้านดังกล่าวไม่น่าจะทำให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมหยุดชะงัก เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายไม่ใช่การบีบบังคับ แต่เป็นการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมและทางกฎหมาย
นอกจากนี้ อุปสรรคทางวัฒนธรรมก็ถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในสถาบันครอบครัว ที่การแสดงออกของบุคคล LGBTQ+ อาจยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร โดยบุคคลจำนวนมากยังคงรู้สึกว่าถูกบังคับให้ปกปิดตัวตน ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาสิทธิ LGBTQ+ ในวงกว้าง
สมรสเท่าเทียมมีผลต่อประเทศไทยอย่างไร
การทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นเพียงการพัฒนาที่สำคัญทางระบบกฎหมายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมอื่น ๆ ของประเทศไทยอย่างมีนัยยะอีกด้วย
ร่างกฎหมายดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยสอดคล้องกับบรรทัดฐานโลกในเรื่องของความเท่าเทียม เนื่องจากเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการก้าวไปสู่ความไม่แบ่งแยกและความหลากหลายของบุคคล นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารชุดใหม่ในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีรากฐานมาจากหลักการเหล่านี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังสำหรับบุคคล LGBTQ+ ในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งการแต่งงานของคนเพศเดียวกันยังคงผิดกฎหมาย
ความเท่าเทียมที่จะได้จากร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับโอกาสต่าง ๆ ที่สงวนไว้สำหรับคู่สมรสชายหญิงในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิหักภาษี การให้ความยินยอมทางการแพทย์ และสิทธิในการรับมรดก เป็นต้น
นอกจากนี้ หากประเทศไทยสามารถเป็นผู้บุกเบิกการสมรสเท่าเทียมในระดับภูมิภาคได้ จะช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย โดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชุมชน LGBTQ+
ขั้นตอนถัดไปสำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมคือการผ่านการพิจารณาของรัฐสภา หลายฝ่ายกำลังจับตาดูการเคลื่อนไหวนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะนอกจากจะมีอิทธิพลต่อกฎหมายโดยตรงแล้ว อย่างมีผลทางอ้อมต่อภาคสังคม และเศรษฐกิจอีกด้วย ทีมกฎหมายของเราที่ Siam Legal คอยติดตามความคืบหน้าที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างสม่ำเสมอ โดยจะอัพเดทข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญอย่างทันท่วงที หากท่านมีคำถามหรือต้องการความช่วยเหลือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อเราเพื่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
Category: กฎหมายแพ่ง
About the Author (Author Profile)
สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล