กฎหมายและระเบียบการขอสัญชาติไทยปี 2566
ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งจะต้องพบเจอกับอุปสรรคในเรื่องต่างๆ ทั้งการขอยืดระยะเวลาอยู่ในประเทศไทย การเปิดบริษัท การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยราบรื่นขึ้น และไม่เจอกับอุปสรรคเหล่านี้อีกคือการแปลงสัญชาติเป็นคนไทย
ผู้ประสงค์จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทยต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายประเทศไทย (อายุ20 ปี) และกฎหมายที่ผู้สมัครมีสัญชาติ
- ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย โดยมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร
- อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี จากวันที่ระบุไว้ในใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือทะเบียนราษฎร
- มีอาชีพสุจริต โดยมีใบอนุญาตทำงาน/หนังสือรับรองการประกอบอาชีพที่ออกโดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยมีรายได้ขั้นต่ำดังนี้
- กรณีที่ผู้สมัครไม่มีความสัมพันธ์ใดกับประเทศไทย จะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 80,000 บาท/เดือน
- กณณีที่ผู้สมัครมีคามสัมพันธ์กับประเทศไทย เช่นแต่งงานกับชาวไทย หรือมีบุตรที่มีสัญชาติไทย หรือจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันศึกษาในประเทศไทย จะต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 40,000 บาท/เดือน
- มีหลักฐานการจ่ายภาษีเงินได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี
- มีความประพฤติดี โดยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- มีความรู้ด้านภาษาไทย (สามารถร้องเพลงชาติไทย และเพลงสรรเสริญพระบารมีได้)
ปรับกฎกระทรวงใหม่ ให้ชาวต่างชาติต้องสอบภาษาไทยเพื่อให้ได้สัญชาติ
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่าครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับปรับปรุง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แบบการขอสัญชาติไทย การแปลงสัญชาติเป็นไทย การสละสัญชาติไทย การกลับคืนสัญชาติไทย และค่าธรรมเนียม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ระเบียบใหม่นี้กำหนดให้ชาวต่างชาติที่ต้องการขอสัญชาติไทยจะต้องมีทักษะด้านภาษาไทย โดยสามารถพูดและเข้าใจภาษาไทยได้ ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอสัญชาติจะต้องผ่านการทดสอบภาษาไทยจากคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการไตร่ตรองด้านสัญชาติ หรือจะต้องมีเอกสารรับรองจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง ว่าผู้ยื่นขอสัญชาติได้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประถมจากโรงเรียนในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้สมัครขอสัญชาติเพียงแค่ต้องสื่อสารภาษาไทยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีกำหนดว่าต้องผ่านการทดสอบ
สถานที่ยื่นใบสมัครเพื่อขอสัญชาติไทย, แปลงสัญชาติเป็นไทย, สละสัญชาติไทย และกลับคืนสัญชาติไทย:
- ผู้สมัครที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรในกทม. สามารถยื่นเอกสารได้ที่กรมการปกครอง
- ผู้สมัครที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรในต่างจังหวัด สามารถยื่นเอกสารได้ที่จังหวัด
- ผู้สมัครที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศสามารถยื่นเอกสารได้ที่สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ในประเทศนั้นๆ
เอกสารที่ใช้ในการยื่นใบสมัคร
- หญิงต่างชาติที่แต่งงานกับสามีชาวไทยที่ต้องการยื่นขอสัญชาติไทย ให้ยื่นแบบฟอร์ม สช.1 พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบทะเบียนสมรส และรูปถ่าย เป็นต้น
- ชาวต่างชาติที่ต้องการแปลงสัญชาติเป็นไทย ให้ยื่นแบบฟอร์ม สช.2 พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่าย หลักฐานการทำงาน หลักฐานวุฒิการศึกษา เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องการยื่นสมัครขอแปลงสัญชาติให้กับชาวต่างชาติที่เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้เยาว์ หรือผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีสัญชาติไทย ให้ยื่นแบบฟอร์ม สช. 3 พร้อมเอกสารประกอบอื่นๆ เช่น สำเนาคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล หรือหลักฐานการเป็นผู้ไร้ความสามารถ
ค่าธรรมเนียม
- ค่าธรรมเนียมการแปลงสัญชาติเป็นไทยสำหรับผู้ใหญ่ 10,000 บาท จากเดิม 5,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมการแปลงสัญชาติเป็นไทยสำหรับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้แปลงสัญชาติ 5,000 บาท จากเดิม 2,500 บาท
- ค่าหนังสือรับรองแปลงสัญชาติเป็นไทย 1,000 บาท จากเดิม 500 บาท
- ค่าธรรมเนียมการกลับคืนสัญชาติไทย ครั้งละ 2,000 บาท จากเดิม 1,000 บาท
ระยะเวลาในการตรวจสอบและพิจารณาเอกสารจะต้องอยู่ภายใน 90 วัน และในกรณีที่มีการยื่นใบสมัครในต่างประเทศ จะใช้เวลาไม่เกิน 120 วัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สามารถขอยืดเวลาพิจารณาเอกสารได้สองครั้ง แต่ละครั้งจะต้องไม่เกิน 30 วัน หากมีเหตุผลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆของร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการและเอกสารในการยื่นขอสัญชาติไทย โปรดติดต่อเรา
Category: การย้ายถิ่นฐาน
About the Author (Author Profile)
สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล