กฎหมายและระเบียบกัญชาของประเทศไทย ปี 2565

กฎหมายและระเบียบกัญชาของประเทศไทย ปี 2565

“กัญชา” เป็นพืชที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และคนไทยทั่วไปรู้จักกันดีในฐานะพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำบัดโรค และมีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงทำให้กัญชากลายเป็นพืชสมุนไพรที่ผิดกฎหมาย 

ในปี 2562 รัฐบาลไทยได้เริ่มปลดล็อกกฎระเบียบบางประการให้หน่วยงาน และประชาชนที่ได้รับอนุญาตสามารถนำกัญชามาให้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ ประเทศไทยจึงถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันทางกฎหมายให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงประโยชน์จากนวัตกรรมกัญชาทางการแพทย์ และเพื่อลดการปลูกหรือจำหน่ายกัญชาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งการผลักดันกฎหมายด้านกัญชานี้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ด้วย แนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้แย้งถึงความเหมาะสมในสังคมไทยที่ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ในระดับหนึ่ง

แม้ว่าการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดในปี 2562 จะช่วยผ่อนคลายการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในส่วนหนึ่ง แต่พืชสมุนไพรเหล่านี้ยังคงถูกกำกับไว้ภายใต้ชนิดยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งหมายความว่าการจะนำพืชเหล่านี้มาใช้ได้นั้นยังคงมีข้อกัดอยู่มากมาย 

การปลดล็อกบางส่วนของกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ

ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2563 ได้กำหนดให้บางส่วนของกัญชาไม่อยู่ในรายการยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อีกต่อไป

ส่วนหรือสารของกัญชาที่ถูกนำออกจากรายการประกอบด้วย:

  1. เส้นใย ลำต้น กิ่ง ก้าน ราก และเปลือก
  2. ใบ (ไม่มียอดและช่อดอกติดมาด้วย)
  3. สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ และต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก
  4. กากหรือเศษที่เหลือจากสารสกัดกัญชา และต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก

ส่วนหรือสารของกัญชงรวมถึงพืชในตระกูลเดียวกันชนิดอื่นๆก็ได้รับการยกเว้นจากรายการยาเสพติดให้โทษเช่นเดียวกัน

แม้จะมีความคืบหน้าด้านการแก้ไขกฎหมายยาเสพติด แต่กัญชายังคงไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมากนัก เนื่องด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่ยังคงมีความซับซ้อน และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่สนใจยังไม่สามารถนำทุกส่วนของกัญชาไปใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย 

การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และมีกัญชาไว้ในครอบครอง

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการเผยแพร่กฎกระทรวงเกี่ยวกับการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยเฉพาะกัญชา 

กฎทรวงได้กำหนดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้สามารถขอรับอนุญาตได้:

  1. กรณีผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลธรรมดา ต้อง
    1. มีสัญชาติไทย
    2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี
    3. มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
    4. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
    5. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
    6. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
    7. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
  2. กรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคล ต้อง
    1. จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย
    2. มีคุณสมบัติตามข้อ 1) ฉ. และ ช.
    3. มีตัวแทน หรือผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ 1)
    4. มีกรรมการ ผู้ถือหุ้น หรืออย่างน้อยสองในสามของผู้ถือหุ้นต้องมีสัญชาติไทย
    5. มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย
  3. กรณีผู้ขออนุญาตเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ตัวแทนผู้มีอำนาจดำเนินการจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1)
  4. กรณีผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐ จะต้องมีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองกัญชาตามภารกิจที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง

เงื่อนไขเหล่านี้สื่อว่าชาวต่างชาติยังไม่สามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีกัญชาไว้ในครอบครองในประเทศไทยได้ในขณะนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับแก้ไขปี 2562 ที่ให้ผู้มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลและองค์กรที่จดทะเบียนในไทยเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ได้ในช่วง 5 ปีแรกนับจากการบังคับใช้พ.ร.บดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

การผลักดันด้านกฎหมายกัญชาอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศในพิธีเปิดงาน “Kick off กัญชาริมฝั่งโขง” ณ จังหวัดนครพนมว่า ทุกส่วน ของกัญชาไม่ได้ถูดจัดไว้ในรายการยาเสพติดให้โทษอีกแล้ว ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่มีผลบังใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564

นายอนุทินกล่าวถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณะสุขในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร ทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อม โดยการมอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับกัญชา และสร้างอาชีพและรายได้ให้ทั้งผู้ปลูกและผู้ผลิต นอกจากนี้ยังช่วยให้คนไทยได้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากกัญชา และเพิ่มทางเลือกในการรักษาทางการแพทย์ โดยการผลักดันนโยบายด้านกัญชานี้จะปูทางให้โรงพยาบาล และคลินิกทั่วประเทศสามารถนำเสนอบริการทางการแพทย์ทางเลือกจากกัญชาให้กับประชาชนได้ ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขกำลังค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพโดยใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรเหล่านี้เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของคนไทย 

กระทรวงสาธารณสุขได้มีความพยายามประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย โดยการนำพืชสมุนไพรเหล่านี้ออกจากรายการยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งหมายความว่าทุกส่วนของกัญชา รวมถึงราก ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ช่อดอก และเมล็ด จะไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป มีเพียงสารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC เกินร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่ยังคงอยู่ในรายการยาเสพติดต้องห้าม นอกจากนี้กระบวนการในการขออนุญาตปลูกกัญชาจะมีความยุ่งยากน้อยลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร และรัฐวิสาหกิจชุมชนที่มีความสนใจในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ในกระบวนการถัดไป กระทรวงสาธารณะสุขจะประกาศรายการยาเสพติดให้โทษใหม่อย่างเป็นทางการ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ทำจากน้ำมันกัญชา และสารสกัดจากกัญชา เช่นสบู่ เครื่องสำอาง และอาหารเสริมที่มีค่า THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 ได้ทั้งหมด 

นายอนุทินยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะพยายามต่อไปเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงประโยชน์จากกัญชาให้มากที่สุด

แม้กฎหมายกัญชาในประเทศไทยจะมีความคืบหน้าไปมาก ก็ยังคงมีมาตรการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ รวมถึงรายละเอียดที่ต้องมีการประกาศให้แน่ชัดต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจดำเนินกิจกรรมหรือธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาในประเทศไทย แนะนำว่าควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อช่วยแนะนำท่านเกี่ยวกับกฎระเบียบที่มีความซับซ้อน

Category: กฎหมายอาญา

About the Author (Author Profile)

สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล

Search the blog