การขอมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย (Thai PR)

ถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย

หากชาวต่างชาติมีความประสงค์ที่จะอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน หรือแม้แต่ตลอดชีวิต โดยไม่ต้องกังวลว่าวีซ่าที่มีอยู่จะหมดอายุเมื่อไหร่ การขอมีถิ่นที่อยู่ในไทยถือเป็นวิธีหนึ่งที่ควรศึกษาและพิจารณา การมีถิ่นที่อยู่ถาวรจะทำให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หรือเปิดบริษัทในไทยได้ง่ายดายขึ้น นอกจากนี้หากชาวต่างชาติต้องการที่จะแปลงสัญชาติเป็นไทย การได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้สามารถแปลงสัญชาติได้ในอนาคต

โควต้าประจำปี

การสมัครขอมีถิ่นที่อยู่ในไทยจะมีการประกาศโควต้า และช่วงเวลาเปิดรับคำร้องในแต่ละปี โดยปกติแล้วจะเปิดรับชาวต่างชาติ 100 คนต่อหนึ่งสัญชาติ และ 50 คนสำหรับผู้สมัครไร้สัญชาติ โดยมักจะเปิดรับคำร้องในช่วงเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายน จนถึงวันทำการสุดท้ายในเดือนธันวาคมของทุกปี

ในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้เปิดรับคำร้องตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม ถึงวันที่ 29 ธันวาคม อย่างไรก็ตามผู้สนใจควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นคำร้อง

ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้:

  1. ต้องถือหนังสือเดินทางที่มีตราประทับ Non-immigrant visa และได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน โดยมีการต่อวีซ่าเป็นรายปีจนถึงวันที่ยื่นใบคำร้อง
  2. ผู้สมัครที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไปต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมโดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ และกรอกประวัติ
  3. ผู้สมัครจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ทรัพย์สิน ความรู้ด้านวิชาชีพ และฐานะความสัมพันธ์กับคนที่มีสัญชาติไทย หรือข้อมูลอื่นๆตามความเหมาะสม
  4. ผู้สมัครจะต้องสามารถพูด และเข้าใจภาษาไทยได้ในระดับหนึ่ง

ประเภทของการสมัคร

ผู้สมัครจะต้องเลือกยื่นใบสมัครหนึ่งประเภทจากประเภทคำร้องด้านล่างนี้ ตามแต่สถานการณ์ของผู้สมัครแต่ละท่าน

  1. ประเภทการลงทุน
  2. ประเภทธุรกิจ
  3. ประเภททำงาน
  4. ประเภทเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งประกอบด้วย
    1. กรณีคู่สมรสให้การอุปการะ หรือขอรับการอุปการะจากคู่สมรสชาวไทย หรือที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในไทยแล้ว
    2. กรณีบุตรให้การอุปการะ หรือขอรับการอุปการะจากบิดาหรือมารดาชาวไทย หรือที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในไทยแล้ว
    3. กรณีบิดาหรือมารดาให้การอุปการะ หรือขอรับการอุปการะจากบุตรชาวไทย หรือที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในไทยแล้ว
    4. กรณีผู้เชี่ยวชาญ
    5. กรณีพิเศษ แบบเฉพาะราย

เงื่อนไขการสมัครภายใต้ประเภทการลงทุน

  1. ผู้สมัครจะต้องมีการนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยมีหลักฐานจากธนาคารพาณิชย์ในไทยว่าได้มีการโอนเงินลงทุนมาจากต่างประเทศ
  2. การลงทุนนี้ต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย และมีหลักฐานในการลงทุนมาแสดง
  3. หลังจากได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่แล้ว ชาวต่างชาติจะต้องแสดงหลักฐานการลงทุนกับคณะกรรมการพิจารณาตรวจคนเข้าเมือง หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายภายในเดือนกันยายนของทุกปี เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน

เงื่อนไขการสมัครภายใต้ประเภทธุรกิจ

  1. ผู้สมัครจะต้องมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และเป็นผู้มีอำนาจในการลงนามอย่างน้อย 1 ปีจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง
  2. ผู้สมัครจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง โดยจะต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลที่ถูกต้อง
  3. ธุรกิจนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยตามเงื่อนไขเฉพาะที่กำหนด

เงื่อนไขการสมัครภายใต้ประเภทการทำงาน

  1. ผู้สมัครจะต้องได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย (มีใบอนุญาตทำงาน) ไม่น้อยกว่า 3 ปีจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง
  2. ผู้สมัครจะต้องทำงานในบริษัทที่ระบุไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปีจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง
  3. ผู้สมัครจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง หรือมีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง

เงื่อนไขการสมัครภายใต้ประเภทเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม

1. คู่สมรสให้การอุปการะ หรือขอรับการอุปการะจากคู่สมรสชาวไทย

กรณีที่ผู้ให้การอุปการะทำงานในประเทศไทย:

  • คู่สมรสจะต้องมีการจดทะเบียนกันตามกฎหมายเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และมีบุตรทางสายเลือดร่วมกัน ในกรณีที่ไม่สามารถมีบุตรได้ จะต้องแสดงหลักฐานทางการแพทย์จากโรงพยาบาล หากไม่มีหลักฐาน คู่สมรสจะต้องแต่งงานกันตามกฎหมายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปีจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันต้องมีรายได้เพียงพอต่อการให้อุปการะ โดยจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง และต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีที่ถูกต้อง

กรณีที่ผู้ให้การอุปการะเป็นผู้สูงอายุ:

  • ผู้สมัครจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ณ วันที่ยื่นคำร้อง
  • คู่สมรสจะต้องมีการจดทะเบียนกันตามกฎหมายเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง
  • ผู้ให้การอุปการะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 65,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง

2. บุตรให้การอุปการะ หรือขอรับการอุปการะจากบิดาหรือมารดาชาวไทย

กรณีบุตรเป็นผู้ให้การอุปการะแก่บิดาหรือมารดาชาวไทย:

  • ผู้สมัครเป็นบุตรโดยสายเลือดของบิดาหรือมารดาชาวไทย
  • บิดาหรือมารดามีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ณ วันที่ยื่นคำร้อง
  • ผู้ให้การอุปการะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง และต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีที่ถูกต้อง

กรณีบุตรขอเป็นผู้รับความอุปการะจากบิดาหรือมารดาชาวไทย:

  • ต้องเป็นบิดาหรือมารดาทางสายเลือด และต้องมีการจดทะเบียนสูติบัตรรับรองบุตร
  • บุตรจะต้องเป็นโสด และมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในกรณีที่บุตรมีอายุ 20 ปีหรือมากกว่า ณ วันที่ยื่นคำร้อง จะต้องมีเหตุผลอันสมควรที่บุตรจะขอรับความอุปการะจากบิดาหรือมารดา เช่นบุตรกำลังเรียนอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี หรือมีสุขภาพไม่แข็งแรงเป็นต้น โดยต้องมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องมารองรับ
  • ผู้ให้การอุปการะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง และต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีที่ถูกต้อง

3. บิดาหรือมารดาให้การอุปการะ หรือขอรับการอุปการะจากบุตรชาวไทย

กรณีบิดาหรือมารดาเป็นผู้ให้การอุปการะแก่บุตรชาวไทย

  • ต้องเป็นบิดาหรือมารดาทางสายเลือด และต้องมีการจดทะเบียนสูติบัตรรับรองบุตร
  • บุตรจะต้องเป็นโสด และมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ในกรณีที่บุตรมีอายุ 20 ปีหรือมากกว่า ณ วันที่ยื่นคำร้อง จะต้องมีเหตุผลอันสมควรที่บุตรจะขอรับความอุปการะจากบิดาหรือมารดา เช่นบุตรกำลังเรียนอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี หรือมีสุขภาพไม่แข็งแรง เป็นต้น โดยต้องมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องมารองรับ
  • ผู้ให้การอุปการะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง และต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีที่ถูกต้อง

กรณีบิดาหรือมารดาขอเป็นผู้รับความอุปการะจากบุตรชาวไทย:

  • ต้องเป็นบิดาหรือมารดาทางสายเลือด
  • บิดาหรือมารดามีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ณ วันที่ยื่นคำร้อง
  • ผู้ให้การอุปการะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง และต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีที่ถูกต้อง

4. เงื่อนไขการสมัครภายใต้ประเภทผู้เชี่ยวชาญ:

  • ผู้สมัครต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ และมีความรู้ความสามารถที่เป็นที่ต้องการหรือมีประโยชน์ต่อประเทศไทย
  • ผู้สมัครต้องแสดงหนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้สมัครต้องแสดงหนังสือรับรองการทำงานที่ระบุว่าได้มีการปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีติดต่อกันจนถึงวันที่ยื่นคำร้อง

5. เงื่อนไขการสมัครภายใต้กรณีพิเศษ แบบเฉพาะราย:

  • ผู้สมัครจะต้องเคยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย รัฐบาลไทย หรือได้รับเลือกจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศว่ามีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดง
  • เงื่อนไขอื่นๆตามความเหมาะสมที่กำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง

กระบวนการหลังการยื่นคำร้อง และการสัมภาษณ์

หลังยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ผู้สมัครอยู่ในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วันเพื่อรอฟังผล จนกว่าจะมีการประกาศผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการ

ผู้สมัครจะได้รับการนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์ โดยที่ผู้สมัครจะต้องแสดงความรู้และทักษะด้านภาษาไทย และหากผู้สมัครไม่แสดงตนในวันนัดหมายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถือว่าคำร้องนั้นเป็นโมฆะ

เมื่อได้รับการอนุมัติให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว ผู้สมัครจะสามารถมีทะเบียนบ้านที่นำไปขึ้นทะเบียนที่อยู่ของตนได้ และจากนั้นจะสามารถดำเนินการขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ค่าสมัคร และค่าธรรมเนียมอื่นๆ:

  1. ค่ายื่นคำร้อง 7,600 บาท (ไม่สามารถขอคืนได้)
  2. หากได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ ผู้สมัครจะต้องชำระเงินค่าใบสำคัญถิ่นที่อยู่จำนวน 191,400 บาท
  3. ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นคู่สมรส บิดาหรือมารดา หรือบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีของผู้มีสัญชาติไทย หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในไทยแล้ว จะต้องชำระเงินค่าใบสำคัญถิ่นที่อยู่จำนวน 95,700 บาท

สถานที่ยื่นคำร้อง:

ในกรุงเทพฯ: กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 (งานขอมีถิ่นที่อยู่) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (อาคารบี) ชั้น 2 ด้านทิศใต้
เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ 7 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ในจังหวัดอื่นๆ: ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองในท้องที่ที่ตนอยู่ หรือจังหวัดใกล้เคียง

แม้กระบวนการและการเตรียมเอกสารเพื่อขอมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทยจะค่อนข้างซับซ้อน แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายที่จะทำให้การใช้ชีวิตในประเทศไทยสะดวกสบายขึ้น โปรดติดต่อเราหากท่านมีคำถามหรือต้องการความช่วยเหลือใดๆ

Thailand Visas
1 Year Thai Visa Thai Retirement Visa Thai Marriage Visa
Thai Business Visa 90 Day Thai Visa Thailand Elite Visas
Thai Permanent Residency Visa on Arrival
Local Office Numbers:
Bangkok: 02-254-8900
Phuket: 084-021-9800
Chiang Mai: 053-818-306
Pattaya: 084-021-9800
International Numbers:
US: 1 (877) 252-8831
Thailand: +66 2254-8900
Travel Insurance Thailand
Siam Legal WhatsApp Number

LINE

Siam Legal LINE QR Code
Thai Visa Options
Choose your nationality and type of visa.