การทำพินัยกรรมไทย

ในภูเก็ต

ในกรณีของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลานาน และได้ซื้อทรัพย์สินบนเกาะภูเก็ต หรือแต่งงานกับคนไทย สิ่งหนึ่งที่ต้องเริ่มพิจารณาอย่างจริงจังคือการจัดเตรียมทำพินัยกรรมและพันธสัญญาสุดท้าย

ผู้คนมักหลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องพินัยกรรม หรือเพิกเฉยต่อเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง แต่เราทุกคนทราบกันดีว่าการจากไปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเมื่อ

พินัยกรรมและพันธสัญญาสุดท้ายของคุณจะช่วยให้แน่ใจว่าทรัพย์สินที่หามาอย่างยากลำบากของคุณในประเทศไทยจะถูกจัดสรรให้กับบุคคลที่เหมาะสมตามความต้องการของคุณ โดยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาทภายในครอบครัว หรือการต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลที่ยาวนาน ผู้ที่ประสงค์จะทำพินัยกรรมควรขอคำแนะนำจากทนายความในจังหวัดภูเก็ตซึ่งจะช่วยตอบคำถามทั้งหมดของคุณ และตรวจสอบว่าพินัยกรรมสุดท้ายของคุณนั้นมีผลใช้บังคับภายใต้กฎหมายไทย

กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับพินัยกรรมอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ บทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจถึงความสำคัญของการทำพินัยกรรมในประเทศไทย ขั้นตอนการสืบทอดมรดกของทายาท และสิ่งที่จำเป็นในการเตรียมพินัยกรรมและพันธสัญญาสุดท้าย

ทำไมคุณถึงต้องทำพินัยกรรมในประเทศไทย?

หากคุณมีทรัพย์สินในภูเก็ตหรือที่ใดก็ตามในประเทศไทยที่มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นจากการลงทุนหรืออสังหาริมทรัพย์ที่คุณซื้อระหว่างที่อาศัยอยู่ในไทย คุณควรที่จะเตรียมร่างพินัยกรรมเอาไว้

กฎหมายไทยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถทำพินัยกรรมทั้งที่จดทะเบียนหรือไม่ได้จดทะเบียน เพื่อให้สามารถปกป้องทรัพย์สินและมรดกของตนได้ พินัยกรรมที่ทำขึ้นในประเทศไทยช่วยให้คุณสามารถแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์ ผู้ปกครองให้กับบุตรหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการจัดสรรทรัพย์สิน

ด้วยรูปแบบพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้จัดการมรดกสามารถยื่นเอกสารไปยังศาลที่รับผิดชอบเพื่อตรวจสอบและขอคำสั่งจากศาลในการแบ่งปันทรัพย์สินให้กับทายาทตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม หากรายละเอียดต่างๆในพินัยกรรมครบถ้วนสมบูรณ์ กระบวนการนี้จะไม่ยุ่งยากและใช้เวลาไม่นานเกินไป

จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมในประเทศไทย?

ในกรณีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่กรรมโดยไม่มีพินัยกรรม กฎหมายไทยระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสินสมรสครึ่งหนึ่งจะมอบให้กับคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลผู้นั้น และทรัพย์สินที่เหลือจะแจกจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับก่อนหลัง ตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์:

  1. ผู้สืบสันดาน (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  2. บิดามารดา
  3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
  5. ปู่ ย่า ตา ยาย
  6. ลุง ป้า น้า อา

ในกรณีที่ทายาทผู้ได้รับมรดกเป็นผู้เยาว์หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ศาลจะแต่งตั้งผู้ปกครองให้มาช่วยจัดการมรดกหากยังไม่เคยมีการแต่งตั้งผู้ปกครองตามกฎหมายมาก่อน

หากไม่มีพินัยกรรมในประเทศไทย และผู้ตายไม่มีทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินนั้นจะถูกโอนไปเป็นของรัฐ

ข้อกำหนดและเงื่อนไขในการทำพินัยกรรมในจังหวัดภูเก็ตมีอะไรบ้าง?

ในการร่างพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นบุคคลวิกลจริต

โดยทั่วไปแล้ว พินัยกรรมจะต้องได้รับการรับรองและลงนามโดยพยานสองคน และต้องมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ทั้งนี้ พยานไม่สามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามพินัยกรรมได้ และจะต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

หากผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในพินัยกรรมที่ร่างขึ้น จะสามารถแก้ไขข้อความเมื่อใดก็ได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อทำพินัยกรรมแล้วควรจะทำสำเนาและมอบให้แก่ทนายความ หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัย

รูปแบบของพินัยกรรมและวิธีดำเนินการตามกฎหมายไทย

พินัยกรรมในประเทศไทยสามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ทำพินัยกรรม

  • พินัยกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมพยานสองคน: พินัยกรรมในรูปแบบนี้ต้องทำเป็นหนังสือ (เขียนมือหรือพิมพ์) โดยผู้ทำพินัยกรรมหรือทนายความ โดยลงวันที่ขณะที่ร่างพินัยกรรม และต้องลงนามโดยผู้ทำพินัยกรรมและพยานสองคนเพื่อยืนยันลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม ในกรณีที่พินัยกรรมเขียนขึ้นโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ทำพินัยกรรม ให้ระบุชื่อผู้เขียนด้วย
  • พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ: สำหรับรูปแบบนี้ พินัยกรรมทั้งฉบับจะต้องเขียนด้วยมือโดยผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น และจะต้องระบุวันที่ที่ทำพินัยกรรม โดยมีลายเซ็นของผู้ทำพินัยกรรมกำกับ
  • พินัยกรรมที่ลงทะเบียนเป็นเอกสารลับ: ในกรณีนี้ พินัยกรรมจะถูกร่าง ปิดผนึก และลงนามโดยผู้ทำพินัยกรรม จากนั้นจะต้องนำไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ณ ที่ว่าการอำเภอในจังหวัดภูเก็ตโดยมีพยานอย่างน้อยสองคน ถ้าพินัยกรรมไม่ได้ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ทำพินัยกรรม จะต้องระบุชื่อและภูมิลำเนาของผู้เขียน นอกจากนี้ ยังสามารถทำพินัยกรรมที่เป็นเอกสารฝ่ายเมืองได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ณ ที่ว่าการอำเภอดำเนินการให้ ทั้งนี้ ผู้ทำพินัยกรรมรูปแบบนี้จะต้องมีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทย

อะไรคือสิ่งที่ควรระบุไว้ในพินัยกรรม?

ด้านล่างนี้เป็นข้อมูลทั่วไปที่จะต้องระบุไว้ในพินัยกรรม ไม่ว่าจะจัดทำขึ้นในรูปแบบใดก็ตาม

  • ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ วันเกิด และเลขที่หนังสือเดินทางของผู้ทำพินัยกรรม
  • ชื่อ สัญชาติ ที่อยู่ วันเกิดของผู้รับผลประโยชน์ และตัวแทนในกรณีที่ผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิต
  • ชื่อ ที่อยู่ และเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการมรดก
  • ชื่อ ที่อยู่ และเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยานทั้งสองคน
  • รายละเอียดของมรดกที่จะจัดสรรให้กับผู้รับผลประโยชน์แต่ละฝ่าย
  • ผู้ปกครองทายาท (กรณีทายาทเป็นผู้เยาว์)

สำนักงานกฎหมายในภูเก็ตสามารถช่วยคุณในการร่างพินัยกรรมและพันธสัญญาฉบับสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินทั้งหมดของคุณจะถูกจัดสรรให้กับคนที่คุณรักตามความประสงค์ของคุณ โดยทนายความที่มีประสบการณ์ในด้านนี้จะช่วยตรวจสอบไม่ให้มีช่องโหว่ในพินัยกรรมของคุณ เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจนและรัดกุมมากที่สุด พินัยกรรมที่เหมาะสมซึ่งจัดทำขึ้นโดยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจะช่วยรับประกันว่าความปรารถนาสุดท้ายของคุณจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โปรดติดต่อสำนักงานภูเก็ตของเราตอนนี้เพื่อขอคำปรึกษา

สยาม ลีเกิ้ล (ภูเก็ต)

123 / 27-28 หมู่ 5, บางเต่า เพลส, เชิงทะเล, ถลาง จังหวัดภูเก็ต 83110 ประเทศไทย
ติดต่อ: 076 326 322

Contact Us

Siam Legal Phuket

หมายเลขโทรศัพท์ท้องถิ่น:
กรุงเทพฯ: 02-254-8900
ภูเก็ต: 076-326-322
เชียงใหม่: 053-818-306
พัทยา: 084-021-9800
หมายเลขโทรศัพท์ต่างประเทศ:
สหรัฐอเมริกา: 1-877-252-8831
ประเทศไทย: +66 2254-8900