ทนายด้านการหย่าร้างในจังหวัดภูเก็ต
การหย่าร้างไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ต่างก็มีกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก แต่หลายความสัมพันธ์ก็จำเป็นต้องจบลงที่การสิ้นสุดการสมรสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกระบวนการหย่าร้างในประเทศไทยมีทั้งกรณีที่ไม่ได้มีขั้นตอนมากนัก หากคู่สมรสสามารถตกลงเงื่อนไขต่างๆ ในการสิ้นสุดความสัมพันธ์ร่วมกันได้ และในบางกรณีที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน
ในประเทศไทย หรือโดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต การแต่งงานกันระหว่างชาวต่างชาติและชาวไทยมีให้เห็นอยู่ค่อนข้างมาก โดยการหย่าร้างที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายในประเทศไทย อาจไม่ได้รับการยอมรับในบางประเทศ ขึ้นอยู่กับประเภทของการหย่าร้าง นอกจากนี้อาจยังมีประเด็นด้านกฎหมาย อื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาจากการสิ้นสุดการสมรส เช่น สิทธิในการดูแลบุตร การแบ่งอสังหาริมทรัพย์ การพิสูจน์ความเป็นบุพการี เป็นต้น ดังนั้น หากคุณอาศัยอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต คุณควรที่จะขอคำปรึกษาจากนักกฎหมายในพื้นที่ให้ช่วยแนะนำคุณในขั้นตอนต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของคุณ
ประเภทของการหย่า และกระบวนการหย่าร้างในประเทศไทย
โดยทั่วไปแล้ว การหย่าร้างในไทยมีสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทที่จะต้องดำเนินการ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และการตกลงกันระหว่างคู่สมรส
การหย่าโดยความยินยอม
การหย่าประเภทนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อ คู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีการตกลงร่วมกันที่จะยุติการสมรส และได้เจรจาเงื่อนไขในการหย่าร้างต่างๆ โดยกฎหมายไทยอนุญาตให้คู่สมรสทำการยื่นขอสิ้นสุดการสมรสได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลรองรับใดๆ หากเป็นความประสงค์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งการหย่าโดยความยินยอมนี้ มีกระบวนการที่ตรงไปตรงมา และใช้เวลาไม่มาก ทั้งนี้ ประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้าง เช่น สิทธิในการดูแลบุตร ค่าเลี้ยงดู หรือการแบ่งทรัพย์สิน จะต้องมีการเจรจาตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรโดยคู่สมรสก่อนที่จะดำเนินการยื่นคำร้อง ซึ่งสามารถยื่นขอจดทะเบียนหย่าได้ ณ ที่ว่าการอำเภอในจังหวัดภูเก็ต และคู่สมรสทั้งสองฝ่ายจะต้องไปดำเนินเรื่องด้วยตนเอง
เอกสารทั่วไปที่จะต้องใช้ในการจดทะเบียนหย่าประกอบด้วย:
- สัญญาการหย่าที่ลงลายมือชื่อโดยคู่สมรสทั้งสองฝ่าย
- เอกสารแสดงตัวตนของคู่สมรสแต่ละฝ่าย
- ใบทะเบียนสมรส
เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่าให้ไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ คู่สมรสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นชาวต่างชาติจะต้องรับรู้ว่าหลักฐานการหย่าโดยความยินยอมจะไม่สามารถนำไปใช้ทางกฎหมายได้ในบางประเทศ และอาจจำเป็นต้องใช้เอกสารที่ออกโดยศาลแทน
ถึงแม้ว่าการหย่าประเภทนี้จะสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทนายติดตามไปด้วย แต่ความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในภูเก็ตจะมีประโยชน์มากในการช่วยให้คู่สมรสเข้าใจถึงกระบวนการ และผลทางกฎหมายอย่างชัดเจน รวมถึงการร่าง และตรวจสอบสัญญาการหย่า และการจัดเตรียมเอกสารสำหรับการจดทะเบียนหย่าให้ถูกต้องด้วย
การหย่าแบบมีการโต้แย้ง
การหย่าแบบมีการโต้แย้งจะตรงกันข้ามกับการหย่าโดยความยินยอม ซึ่งการหย่าประเภทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมที่จะสิ้นสุดการสมรส หรือคู่สมรสไม่สามารถเจรจาตกลงกันในเงื่อนไขของการหย่าร้างต่างๆได้ ในกรณีนี้ จำเป็นต้องมีการขอคำพิพากษาจากศาล ผู้ที่ขอหย่าจะต้องแจ้งเหตุแห่งการฟ้องหย่า เพื่อให้ศาลพิจารณาสิ้นสุดการสมรส โดยจะต้องแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์เหตุผลในการฟ้องหย่า โดยเหตุแห่งการฟ้องหย่านี้จะต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วย:
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับบุคคลอื่น
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความประพฤติที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความอับอายที่ร้ายแรงต่ออีกฝ่าย
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำร้ายจิตใจ ร่างกาย หรือเหยียดหยามบุพการีของอีกฝ่ายอย่างร้ายแรง
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละทิ้งอีกฝ่ายไปเกิน 1 ปี
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหายสาบสูญไปเกิน 3 ปี
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้การช่วยเหลือหรือเลี้ยงดูอีกฝ่ายตามสมควร หรือทำให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างร้ายแรง และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาวะวิกลจริตมามากว่า 3 ปี
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดทัณฑ์บนที่ทำไว้ในเรื่องของความประพฤติ
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความผิดปกติทางกาย ที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมในสถานะสมรสได้อย่างถาวร
สามีหรือภรรยาที่ยื่นฟ้องหย่าอาจเรียกร้องค่าเสียหาย หรือค่าเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายได้ หากศาลตัดสินให้ฝ่ายนั้นมีความผิดจริงตามเหตุแห่งการฟ้องหย่า
นอกจากนี้ คู่สมรสบางคู่ จำเป็นต้องเลือกดำเนินการหย่าแบบมีการโต้แย้ง ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงร่วมกันในประเด็นของสิทธิการดูแลบุตร การแบ่งทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของร่วมกัน หรือประเด็นด้านการเงินต่างๆ ซึ่งหากคู่สมรสได้เคยทำสัญญาข้อตกลงก่อนการสมรส จะสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของศาลได้
การหย่าประเภทนี้ต้องใช้ทั้งเวลาและความทุ่มเทมากกว่าอีกประเภท โดยคู่สมรส และทนายตัวแทนอาจจะต้องแสดงตนต่อหน้าศาลหลายครั้งจนกว่าจะได้รับคำพิพากษา
เมื่อศาลได้ตัดสินให้การสมรสสิ้นสุดลงแล้ว จะต้องมีการยื่นเรื่องต่ออำเภอในจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอใบสำคัญการจดทะเบียนหย่าอย่างถูกต้อง
ผู้ที่ต้องการฟ้องหย่าควรจะขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกรณีของคุณจากทนายที่มีประสบการณ์เฉพาะในด้านนี้ เนื่องจากการหย่าประเภทนี้มีกระบวนการทางกฎหมายที่ซับซ้อน และมีรายละเอียดมาก
กระบวนการหย่าใช้เวลานานเท่าไหร่
ในกรณีที่เป็นการหย่าโดยความยินยอม ซึ่งคู่สมรสทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในทุกประเด็น การจดทะเบียนหย่าที่อำเภอจะสามารถทำให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว
แต่หากเป็นการหย่าที่จำเป็นต้องขอคำพิพากษาจากศาล กระบวนการทั้งหมดอาจใช้เวลาเป็นเดือนจนถึงหลายปี โดยขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละกรณี
กฎหมายการหย่าในประเทศไทยอาจแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งนักกฎหมายในพื้นที่ที่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายครอบครัว และสามารถอธิบายขั้นตอนต่างๆเป็นภาษาอังกฤษให้กับชาวต่างชาติเข้าใจได้จะช่วยให้กระบวนการทั้งหมดง่ายดายขึ้นมากสำหรับคุณ ทนายด้านกฎหมายครอบครัวของเราที่ภูเก็ตสามารถช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกรณีของคุณ ไปจนถึงการว่าความในชั้นศาลหากมีความจำเป็น
เราตระหนักดีถึงความสำคัญและความละเอียดอ่อนของประเด็นด้านครอบครัว โดยเราสามารถช่วยคุณจัดการทุกขั้นตอนของกระบวนการหย่าด้วยความใส่ใจและความเป็นมืออาชีพ โปรดติดต่อเราเพื่อขอคำแนะนำ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักงานกฎหมาย Siam Legal ภูเก็ต
123 / 27-28 หมู่ 5 บางเทา เพลส ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83110 ประเทศไทยโทร: +66 76 326 322
Siam Legal ภูเก็ต
โทรหาเรา:
หมายเลขโทรศัพท์ท้องถิ่น: | |
กรุงเทพฯ: | 02-254-8900 |
ภูเก็ต: | 076-326-322 |
เชียงใหม่: | 053-818-306 |
พัทยา: | 084-021-9800 |
หมายเลขโทรศัพท์ต่างประเทศ: | |
สหรัฐอเมริกา: | 1-877-252-8831 |
ประเทศไทย: | +66 2254-8900 |